ระบบบริหารงาน สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด

ประชุมรับฟังความคิดเห็นด้านการเกษตรกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด

by สกจ.ตราด @11 ม.ค. 64 15:06 ( IP : 182...1 ) | Tags : ข่าวประชาสัมพันธ์
  • photo  , 1000x750 pixel , 118,628 bytes.
  • photo  , 960x640 pixel , 70,274 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 93,796 bytes.
  • photo  , 960x640 pixel , 67,531 bytes.
  • photo  , 960x640 pixel , 71,450 bytes.
  • photo  , 1000x750 pixel , 125,940 bytes.
  • photo  , 1000x1415 pixel , 298,210 bytes.

วันที่ 8 มกราคม 2564 นายสว่าง ชื่นอารมย์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด นายสมภพ พวงสุวรรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพืช และนางมาลี วิจิตรโสภาพันธ์ หัวหน้าส่วนยุทธศาสตร์การเกษตร เข้าประชุมรับฟังความคิดเห็นด้านการเกษตรกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด โดยมีนายศักดินัย นุ่มหนู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด เป็นประธานการประชุม สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการหารือร่วมกันหลายฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมเสนอข้อคิดเห็นในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรที่เกิดขึ้นในจังหวัด ได้แก่ การขาดแคลนแรงงานในฤดูกาลผลิต ปี 2564 การนำผลผลิตของจังหวัดตราดที่ได้มาตรฐานเข้าสู่ตลาดเพื่อสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ยอมรับ และการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพ มีอำนาจต่อรองเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกและลดการถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด ได้ยื่นหนังสือข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคตะวันออกแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด โดยสรุปแนวทางเป็น 6 ประเด็น ดังนี้

  1. ขอให้จังหวัดในภาคตะวันออก มีมาตรการการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเกษตรกรชาวสวนผลไม้ และผู้ประกอบการ จะนำแรงงานทั้งหมดของตนเข้ารับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19

  2. กำหนดแนวทางการนำเข้าแรงงานจากประเทศกัมพูชา ตามจุดผ่านแดนของจังหวัดจันทบุรีและตราด โดยนำแนวทางจันทบุรีโมเดล (การทำข้อตกลง MOU ระหว่างผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และส่วนราชการของประเทศไทยและประเทศกัมพูชา) ในการนำเข้าแรงงานสู่จังหวัดในภาคตะวันออก และขอให้ผ่อนปรนมาตรการการเคลื่อนย้ายแรงงานจากสวนลำไย ในเขตจังหวัดจันทบุรี และสระแก้ว โดยให้แรงงานที่เข้ามาก่อนวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ตามมติคณะรัฐมนตรี สามารถเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในเขตจังหวัดภาคตะวันออกได้ กรณีเป็นแรงงานจากประเทศอื่นให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในปัจจุบัน

  3. ขอให้จังหวัดที่มีเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา (จันทบุรี ตราด) จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อใช้เป็นจุดคัดกรอง กักตัว แรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาในจังหวัดภาคตะวันออก ตามมาตรการของสาธารณสุขจังหวัด

  4. ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตผลไม้ ปี 2563/64 เกษตรกรชาวสวนผลไม้ และผู้ประกอบการ มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว เพื่อเก็บเกี่ยวผลไม้ในช่วงระยะสั้น ประมาณ 3-4 เดือน (มีนาคม-มิถุนายน) หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) เข้าสู่ภาวะปกติ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ขอให้จังหวัดอนุญาตให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ และผู้ประกอบการแจ้งความต้องการแรงงาน ต่อแรงงานจังหวัดและรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อกำหนดมาตรการผ่อนปรนให้แรงงานสามารถเดินทางเข้าจังหวัดในภาคตะวันออกได้ โดยจังหวัดจัดตั้งเป็นศูนย์ สำหรับคัดกรอง กักกัน ที่พัก สำหรับแรงงาน ณ บริเวณพื้นที่ที่เหมาะสม ของพื้นที่เขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา สามารถควบคุมกิจกรรมต่างๆ ได้ และเป็นไปตามมาตรการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสาธารณสุขจังหวัด

  5. ขอให้จังหวัดออกมาตรการ กำหนดให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ และผู้ประกอบการ รายงานจำนวนแรงงานต่อฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ของตนเอง เพื่อทราบและติดตามการใช้แรงงานของเกษตรกรชาวสวนผลไม้ และผู้ประกอบการต่อไป

  6. กรณีผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ขอให้รัฐสนับสนุนค่าตรวจคัดกรองโควิด-19 สำหรับบุคคลดังกล่าว และขอให้กระทรวงสาธารณสุขแบ่งการจัดเก็บค่าธรรมเนียมประกันสุชภาพของแรงงานและผู้ติดตามเป็น 2 งวดๆ ละ 1 ปี

ทั้งนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร จะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ต่อไป

Relate topics