ระบบบริหารงาน สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด

สภาเกษตรกรจังหวัดตราด จัดโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ณ จังหวัดนครราชสีมา

by สกจ.ตราด @10 ก.ย. 63 09:11 ( IP : 182...245 ) | Tags : ข่าวประชาสัมพันธ์
  • photo  , 1000x1415 pixel , 374,045 bytes.
  • photo  , 1000x1415 pixel , 334,746 bytes.
  • photo  , 1000x1415 pixel , 303,071 bytes.
  • photo  , 960x640 pixel , 94,054 bytes.
  • photo  , 960x640 pixel , 111,153 bytes.
  • photo  , 960x640 pixel , 61,055 bytes.
  • photo  , 960x640 pixel , 88,558 bytes.
  • photo  , 960x640 pixel , 62,018 bytes.
  • photo  , 1000x750 pixel , 218,695 bytes.
  • photo  , 1000x750 pixel , 156,532 bytes.
  • photo  , 1000x750 pixel , 265,954 bytes.
  • photo  , 1000x750 pixel , 176,456 bytes.
  • photo  , 1000x758 pixel , 190,622 bytes.

วันที่ 19 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2563 สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด ได้จัดโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ณ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดตราด ได้มีองค์ความรู้ และสามารถนำไปถ่ายทอดต่อให้เกษตรกร/เครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ ในการดำเนินชีวิตและปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรให้เป็นไปตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้มีความมั่นคง และยั่งยืนในการประกอบอาชีพ โดยมีรายละเอียดการศึกษาดูงานในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

  1. ไร่อรหันต์ ศูนย์เรียนรู้เกษตรรุ่นใหม่หัวใจพอเพียง ไร่อรหันต์ ศูนย์เรียนรู้เกษตรรุ่นใหม่หัวใจพอเพียง บ้านกุดปลาเข็ง หมู่ที่ 1 ตำบลโนนค่า อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา กล่าวคือ คุณปา ไชยปัญหา ได้ดำเนินชีวิตตามรอยของในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยนำเกษตรทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้เป็นสูตรของตัวเองด้วยการปลูกพืชผสมผสาน ปลูกพืชหลายอย่าง ทั้งไม้ยืนต้น ผักสวนครัว สลับกับไม้แปลกหายาก และการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะได้ผลผลิตทั้งลูกผลและกิ่งพันธุ์ การเลี้ยงสัตว์ รวมถึงแปรรูปผลผลิต ทำให้มีรายได้ รายวัน รายสัปดาห์ และรายได้ตามฤดูกาล ซึ่งพอเลี้ยงตัวตลอดทั้งปี โดยก่อนเริ่มดำเนินการลงมือทำการเกษตร จะต้องออกแบบและวางแผนบนกระดาษก่อนการลงมือทำบนพื้นที่จริง และเริ่มเรียนรู้องค์ประกอบที่ใช้ในการทำการเกษตร ได้แก่

1.1 การเรียนรู้ดิน ศึกษาความเหมาะสมในการปลูกพืชแต่ละชนิดว่าเหมาะกับดินชนิดใด และการปรับปรุงดิน ปรุงดินให้มีความเหมาะสม และยังได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างดินเพื่อนำไปวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ

1.2 การเรียนรู้น้ำ ศึกษาความแตกต่างของชนิดน้ำที่ใช้ที่ทำให้มีผลต่อการปลูกพืช โดยในน้ำแต่ละชนิดจะมีค่าความเป็นกรด – ด่าง ที่แตกต่างกัน จึงควรที่จะมีการปรับสภาพให้เหมาะสมก่อนนำมาใช้สำหรับการปลูกพืช รวมถึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำ การคำนวณการใช้น้ำต่อปี วิธีการที่ใช้ในการกักเก็บน้ำ เพื่อให้สามารถมีน้ำเพียงพอใช้ได้ตลอดทั้งปี

1.3 การเรียนรู้โรคและแมลงศัตรูพืช เพื่อป้องกันและลดการทำลายของโรคและแมลงที่เข้ามาทำลายพืชที่ปลูกในแปลง

  1. ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านโพนสูง ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านโพนสูง หมู่ที่ 4 ตําบลหมื่นไวย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา คุณอรุณ ขันโคกสูง ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า บ้านโพนสูงมีลักษณะพื้นที่เป็นชุมชนชานเมือง เดิมชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ต่อมาเมื่อมีการขยายตัวของเมืองทำให้พื้นที่เกษตรกรรมลดลงอย่างต่อเนื่อง คนในชุมชนจึงร่วมกันบริหารจัดการชุมชนโดยการปรับรูปแบบการทำเกษตรกรรมให้เหมาะสมสำหรับวิถีชีวิตคนเมือง เช่น สวนผักบริเวณรอบบ้าน การทำเกษตรผสมผสาน การรวมกลุ่มทำกิจกรรมตามบ้านหรือแปลงเกษตรของคนในชุมชน และการส่งเสริมอาชีพให้กับผู้สูงอายุเพื่อรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ ได้แก่

2.1 เกษตรแปลงรวม เป็นกิจกรรมเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยสมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับเงิน 300 บาทต่อวัน หากสมาชิกคนใดไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งใดก็จะถูกหักเงินในครั้งนั้นเข้าสะสมไว้ที่ส่วนกลาง เพื่อนำไปใช้ทำประโยชน์อื่นๆ ให้กับชุมชนต่อไป และจะมีการจัดสรรส่วนแบ่งรายได้เมื่อสิ้นปีแต่ละปี

2.2 การทำนาแปลงรวม กิจกรรม “นาพระทำ” ทำนาวันแม่เก็บเกี่ยววันพ่อ โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำในการรวมคนในชุมชนมาร่วมกันทำนา เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธภาพร่วมกันของคนในชุมชน นอกจากนี้ชุมชนยังมีการนำเรื่อง โคก หนอง นา มาปรับใช้สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่ตั้งของชุมชนมีสภาพเป็นพื้นที่รับน้ำ มีเส้นทางน้ำเป็นคลองชลประทานไหลผ่าน 4 สาย ได้แก่ คลองส่งน้ำ 1 คลองส่งน้ำ 2 คลองส่งน้ำ 4 และคลองบริบูรณ์ จึงมีการบริหารจัดการเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติและความเป็นเมืองได้อย่างสมดุล และมีการจัดทำเส้นทางปั่นจักรยานสำหรับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรภายในชุมชนตามจุดต่างๆ ดังนี้ 1. บ้านต้นไม้ 2. สวนมะพร้าว 3. นาบัว 4. ฟาร์มจิ้งหรีด 5. ฟาร์มหมูหลุม 6. พิพิธภัณฑ์เกษตรโบราณ 7. บ่อเลี้ยงปลา

ปัจจุบันบ้านโพนสูงมีผลผลิตทางเกษตร คือ ฝรั่ง มะนาว มะพร้าว กล้วย ปลานิล ปลาดุก หมู และดอกบัว นอกจากนี้ชุมชนยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภทต่างๆ ได้แก่ จิ้งหรีดกระป๋อง เห็ดสเเน็ค กล้วยตากเสียบไม้ น้ำมะนาว น้ำหม่อนสูตรผงชงดื่ม รวมถึงสามารถนำมูลสัตว์มาบรรจุเพื่อจำหน่ายทำให้มีรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง และกำลังทดลองทำแป้งผงกล้วยเพื่อทดแทนการใช้แป้งจากข้าวและมันสำปะหลัง เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดภายในชุมชนให้กับนักท่องเที่ยว ผู้ที่มาศึกษาดูงาน และประชาชนที่สนใจ รวมถึงการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นทั้งคุณภาพของผลผลิต กระบวนการแปรรูป และบรรจุภัณฑ์ เพื่อเตรียมจำหน่ายในช่องทางตลาดออนไลน์

  1. สถานีวิจัยลำตะคอง สถานีวิจัยลำตะคอง หมู่ที่ 12 ถนนมิตรภาพ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สังกัดศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2541 มีพื้นที่ดำเนินการ 740 ไร่ มีหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร ตามวิสัยทัศน์ “เมืองแห่งนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์” เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและการเรียนรู้ทางด้านการผลิตพืช การถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบครบวงจร บริการสถานที่พักและสัมมนา และยังเป็นที่ตั้งของอาคารเฉลิมพระเกียรติ (เรือนกระจกหลังที่ 1) และอาคารเฉลิมพระเกียรติ (เรือนกระจกหลังที่ 2) เพื่อการเรียนรู้ทางด้านพฤกษาศาสตร์และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและแมลง การนำขยะมาเป็นวัสดุในการผลิตพลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานจากชีวมวล BIOGAS และพลังงานไฟฟ้า

จากการดำเนินการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในครั้งนี้ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดตราด และเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด ได้รับความรู้และความเข้าใจการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การจัดการพื้นที่ให้มีความเหมาะสมสำหรับการทำการเกษตร โดยการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น และสภาพพื้นที่อย่างเหมาะสม รวมถึงเรียนรู้การทำการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบ โคก หนอง นา โมเดล เพื่อจะนำไปถ่ายทอดให้เกษตรกร/เครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และมีความรู้ ความเข้าใจในการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม มาใช้ในการสร้างอาชีพให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และวัตถุดิบตามธรรมชาติ จนเกิดการพัฒนาอาชีพ ถ่ายทอดสู่ทายาทเกษตรกร สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งตระหนักถึงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขั้นพื้นฐาน และมีความรู้ในกระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบครบวงจร สามารถนำไปประชาสัมพันธ์ เผยแพร่แก่เกษตรกร/เครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบ

Relate topics